คณิตศาสตร์ปฐมวัย ลูกๆเรียนอะไรกัน?
คณิตศาสตร์มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาความคิด ทำให้เราคิดอย่างมีเหตุผล เป็นระบบ มีแบบแผนและการคิดอย่างสร้างสรรค์ สำหรับเด็กปฐมวัยเป็นวัยที่เริ่มต้นการเรียนรู้ ช่างสังเกตและชอบสำรวจสิ่งต่างๆรอบตัวการส่งเสริมให้เด็กมีความรู้ความเข้าใจคณิตศาสตร์ไม่เพียงส่งผลให้ประสบความสำเร็จแค่ในวิชาคณิตศาสตร์เท่านั้นแต่ส่งผลถึงศาสตร์อื่นๆด้วย
เด็กปฐมวัยเรียนรู้อะไรในคณิตศาสตร์?
เด็กปฐมวัยทุกคนควรได้เตรียมความพร้อมทางคณิตศาสตร์ก่อนขึ้นเรียนในชั้นประถม ซึ่งสาระหลักที่จำเป็นต่อเด็กปฐมวัย ได้แก่ จำนวน การแยกกลุ่ม การวัดความยาว น้ำหนัก ปริมาตร เงิน เวลา เรขาคณิต ทักษะกระบวนการทางคณิตศาสตร์ การแก้ปัญหา การให้เหตุผล และการสื่อสารทางสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ( สสวท. ) ได้กำหนดคุณภาพทางคณิตศาสตร์ของเด็กปฐมวัยในแต่ละช่วงอายุว่าควรมีความซับซ้อนแตกต่างกันดังนี้
คุณภาพทางคณิตศาสตร์ของเด็กอายุ 3 ปี
- มีความรู้ความเข้าใจเชิงจำนวนเกี่ยวกับจำนวนนับไม่เกินห้า
- มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความยาว น้ำหนัก ปริมาตร และเวลา เช่น สามารถบอกได้ว่ากิจกรรมที่เกิดขึ้นในช่วงเวลากลางวันหรือกลางคืน
- มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการบอกตำแหน่ง รูปทรง
คุณภาพทางคณิตศาสตร์ของเด็กอายุ 4 ปี
- มีความรู้ความเข้าใจเชิงจำนวนเกี่ยวกับการนับไม่เกินสิบและเข้าใจการรวมกลุ่ม การแยกกลุ่ม
- มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความยาว น้ำหนัก ปริมาตร และเวลา สามารถเรียงลำดับได้
- มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับตำแหน่ง สามารถใช้คำบอกตำแหน่ง จำแนกรูปทรงได้และนำรูปทรงต่างๆมาสร้างสรรค์งานศิลปะได้ สามารถเข้าใจแบบรูปของรูปที่มีความสัมพันธ์กัน
คุณภาพทางคณิตศาสตร์ของเด็กอายุ 5 ปี
- มีความรู้ความเข้าใจเชิงจำนวนเกี่ยวกับการนับไม่เกินยี่สิบและเข้าใจการรวมกลุ่ม การแยกกลุ่ม
- มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความยาว น้ำหนัก ปริมาตร และเวลา สามารถเรียงลำดับชื่อวันในหนึ่งสัปดาห์และบอกกิจกรรมหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวาน วันนี้ พรุ่งนี้ได้ เข้าใจเกี่ยวกับจำนวนของเงิน
- มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับตำแหน่ง ทิศทางและระยะทางสามารถใช้คำบอกตำแหน่งทิศทางระยางทาง สามารถจำแนกรูปทรงเรขาคณิตได้ สามารถอธิบายการเปลี่ยนแปลงรูปเรขาคณิตที่เกิดจากการตัด ต่อเติม พับ คลี่และสร้างงานศิลปะแบบสองมิต สามมิติได้
- มีความรู้ความเข้าใจแบบรูปที่มีรูปร่าง ขนาด สี ที่สัมพันธ์กันอย่างใดอย่างหนึ่ง
- มีส่วนร่วมในการให้ข้อมูลและการนำเสนอข้อมูลในรูปแผนภูมิอย่างง่าย
ส่วนเทคนิคจูงใจให้เด็กสนุกกับการเรียนคณิตศาสตร์ คือ ให้เด็กได้เรียนรู้และค้นพบสิ่งที่ท้าทายด้วยกิจกรรมและเกมที่ช่วยฝึกทักษะคณิตศาสตร์ให้เด็กเกิดความสนุกและสอดแทรกเนื้อหาความรู้เข้าไปด้วย
อ้างอิงข้อมูลจาก http://www.tinyzone.tv/HealthDetail.aspx?ctpostid=5128
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น